เจาะลึก 5 เหตุผล ทำให้พนักงานร้านอาหารลาออกบ่อย

ปัญหาพนักงานร้านอาหารลาออกบ่อย นับว่าเป็นอีกปัญหาใหญ่สำหรับร้านอาหารแทบทุกที่ แม้ว่าจะเติมคนเข้ามาใหม่เท่าไหร่ก็ต้องมีเวียนออกไปเรื่อยๆ อยู่เสมอ ทั้งๆที่เจ้าของร้านก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเงินเดือน เพิ่มสวัสดิการแล้วก็ยังไม่เป็นผล นั่นมันเป็นเพราะอะไรกันนะ?!?

 
OCT | 30
  • วันนี้ Umeal จึงชวนคุณมาเจาะลึก 5 เหตุผลที่ทำให้พนักงานร้านอาหารอยู่ไม่ทน เพื่อนำไปใช้รับมือกับปัญหานี้กัน
  • 1.รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
    ใครๆ ก็ต้องการรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ ต้องการคำชื่นชมเมื่อทำงานได้ดี แต่ผู้จัดการร้านหรือเจ้าของร้านหลายคนมักมองข้าม แถมบางครั้งเมื่อพนักงานทำงานผิดพลาด ยังตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เช่น ทำงานอย่างนี้ไม่ต้องมาทำหรอก กลับบ้านไปเถอะ ตำแหน่งของคุณ ใครๆ ก็ทำแทนได้ คุณคิดได้เท่านี้เองหรือ เป็นต้น
  • การตำหนิพนักงานอย่างรุนแรง นอกจากจะทำให้พนักงานเสียความรู้สึก และไม่ช่วยให้เขาพัฒนาตนเองแล้ว ยังอาจทำให้เขาอยากลาออกไปเสียดื้อๆ
  • ทางที่ดี เมื่อพนักงานทำผิดพลาด เจ้าของร้านต้องใช้คำพูดที่เหมาะสม ให้คำแนะนำ หรือเรียกมาตักเตือนเพื่อหวังให้เขาพัฒนาตัวเอง เช่น หากพนักงานทำงานผิด ต้องฟังเหตุผลว่าเพราะอะไรเขาจึงทำงานผิด หากเป็นเพราะระบบของร้านก็ต้องรีบแก้ไข แต่หากปัญหาเกิดจากตัวพนักงานเอง ก็ลองให้เขาเสนอความคิดเห็นว่าควรแก้ปัญหาหาอย่างไร จึงจะเหมาะสมที่สุด การทำเช่นนี้ นอกจากจะช่วยฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้พนักงานแล้ว ยังทำให้เขารู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของเขาอีกด้วย
  • 2.ทำงานหนักเกินไป จนร่างกายรับไม่ไหว
    การทำงานร้านอาหารร่างกายมักมีปัญหาเกี่ยวกับอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว เนื่องจากการเดินวนไปวนมาในร้านทั้งวัน หรือต้องยืนต้อนรับลูกค้าตลอดเวลา ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ เจ้าของร้านต้องจัดตารางเวลาและเพิ่มสวัสดิการในร้านให้เหมาะสม
  • แน่นอนว่าเราไม่สามารถบอกให้พนักงานไปนั่งพัก ทั้งๆ ที่มีลูกค้านั่งรอเต็มร้านได้ แต่สิ่งที่คุณพอจะทำได้คือ จัดตารางการทำงานให้พนักงานไม่เหนื่อยจนเกินไป(คนหนึ่งไม่ควรทำงานเกิน 8 ชั่วโมง) และอาจเพิ่มสวัสดิการพิเศษเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราใส่ใจในสุขภาพของเขาจริงๆ
  • เช่น มีบริการตรวจสุขภาพประจำปี หรือมีสวัสดิการนวดคลายกล้ามเนื้อทุก 2 เดือน (การนวดครั้งหนึ่งไม่เกิน 300 บาท แลกกับ “ใจ” จากพนักงานก็ถือว่าคุ้มค่ามากๆ) หรืออาจสอบถามว่าเขาต้องการสวัสดิการใดเป็นพิเศษ หากพอจะจัดหาได้และไม่เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป ก็ลองจัดหาให้ เพื่อให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น จะได้ช่วยจูงใจให้เขาอยากอยู่กับเรามากขึ้น
  • 3.ตารางเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน
    จริงๆ ไม่ใช่แค่พนักงานร้านอาหารที่รู้สึกอารมณ์เสียที่เมื่อถึงวันหยุดกลับไม่ได้หยุดอย่างที่คิด (แถมบ้างร้านไม่มีวันหยุดให้พนักงานอีกต่างหาก) คุณควรจัดสรรตารางการทำงาน ให้พนักงานมีวันหยุดพักผ่อนที่เพียงพอและแน่นอน ไม่ใช่ว่าวันไหนลูกค้าเยอะก็เรียกให้เขามาช่วยงานตลอดเวลา เพราะบางครั้งเขาก็มีธุระอื่นๆ หรืออยากไปเที่ยวพักผ่อนบ้าง
  • แม้คุณจะจ่ายค่าตอบแทนให้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่แลกกับการที่เขาต้องผิดนัดคนอื่นบ่อยๆ หรือไม่ได้ทำธุระให้เสร็จสิ้นเสียที ก็สร้างความอึดอัดใจให้เขาได้เช่นกัน ฉะนั้นวางตารางการทำงานให้แน่นอน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
  • 4.ผู้จัดการร้านเข้มงวดทุกกระเบียดนิ้ว
    การเปิดร้านอาหาร หากเจ้าของร้านไม่ใช่คนดูแลร้านเอง ก็จำเป็นต้องมีผู้จัดการร้าน เพื่อช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและควบคุมงานให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ การคัดเลือกตำแหน่งผู้จัดการร้านจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนอกจากจะส่งผลต่อการดำเนินงานของร้านโดยภาพรวมแล้ว ยังส่งผลต่อความสุขของพนักงานอีกด้วย เนื่องจากผู้จัดการคือผู้ที่คลุกคลีและดูแลการทำงานของพนักงานอย่างใกล้ชิดที่สุด จึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญบางประการ เช่น มีภาวะผู้นำ มีความยุติธรรม เป็นกันเอง ใจกว้าง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ฯลฯ
  • ผู้จัดการร้านบางคนมีภาวะผู้นำสูง ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขาดความเป็นกันเองก็ทำให้พนักงานอยู่กันอย่างอึดอัด หรือบางครั้งเข้มงวดจนเกินงามหรือคาดหวังในตัวพนักงานสูงเกินไป เช่น หากไม่มีลูกค้าก็ต้องยืนตลอดเวลาห้ามนั่งพัก ต้องจำส่วนผสมของทุกเมนูได้ทุกชนิด ฯลฯ ก็อาจทำพนักงานรู้สึกเหมือนถูกจับผิดตลอดเวลา ทำงานอย่างไม่มีความสุขก็คงไม่มีใครอยากจะทำ ดังนั้นหากจะคัดเลือกผู้จัดการร้านครั้งต่อไป ต้องศึกษาอุปนิสัยของเขาให้ดี เพราะเขาคือส่วนสำคัญที่มีผลในการตัดสินใจทำงานของพนักงานในร้านของคุณ อย่างมาก
  • 5.ลูกค้าถูกเสมอ
    ยามเกิดปัญหาขึ้นในร้านอาหาร เจ้าของร้านมักพูดว่า “ลูกค้าถูกเสมอ” แต่จริงๆ แล้วบางครั้งพนักงานอาจทำเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่ความต้องการของลูกค้ามากเสียเหลือเกิน จนเขาไม่อาจตอบสนองความต้องการได้ ฉะนั้นแทนที่เราจะยกประโยคสุดคลาสสิก “ลูกค้าคือพระเจ้า” (ที่พูดทีไรพนักงานก็เบือนหน้าหนีทุกครั้ง) ขึ้นมาพูดเพื่อจบปัญหา คุณควรสอบถามถึงที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้น แสดงให้เขาเห็นว่าคุณให้ความยุติธรรมอย่างเต็มที่
  • คุณลองคิดอีกแง่ว่า ลูกค้าเขาจ่ายเงินให้คุณก็จริง แต่เขาอาจจะมาใช้บริการร้านคุณเพียงครั้งเดียว แต่พนักงานที่คุณเอาแต่ตำหนิ ทำงาน (และทำเงิน) ให้คุณมานานหลายปีแล้ว ทางที่ดีคือ เมื่อปัญหาเกิดขึ้น คุณควรแสดงความขอโทษลูกค้าอย่างจริงใจ และพยายามกันพนักงานที่กำลังมีปัญหาออกจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อบรรเทาปัญหาให้ได้มากที่สุด และค่อยหาทางออกที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ
  • เมื่อคุณพอจะทราบเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ พนักงานร้านอาหารลาออกแล้ว ฉะนั้นแทนที่จะปล่อยผ่านให้เขาลาออกแล้วหาคนใหม่
  • (ซึ่งต้องมาเสียเวลานั่งสอนงานอีกอย่างน้อย 1 เดือน) ลองกลับมาแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังและจริงใจกันก่อนน่าจะดีกว่า ข้อมูลดีๆ จาก : amarinacademy